โครงการพระราชดำริ แก้มลิง

โครงการพระราชดำริ แก้มลิง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พระองค์ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในการแก้ปัญหาด้านน้ำท่วมนี้ โดยวิธีการที่ตรัสว่า “ แก้มลิง ” ซึ่งได้พระราชทานอรรถาธิบายว่า 
“ …ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกแล้วเอาเข้าปากเคี้ยว แล้วเอาไปเก็บไว้ที่แก้ม ลิงจะเอากล้วยเข้าไปไว้ในกระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปเก็บไว้ที่แก้มก่อนแล้วจึงนำมาเคี้ยวบริโภคและกลืนกินเข้าไปภายหลัง… ” 

ซึ่งหมายความว่าเมื่อเกิดน้ำท่วมก็ขุดคลองเพื่อนำน้ำให้มารวมกันแล้วนำมาเก็บไว้เป็นบ่อพักน้ำ ก็เปรียบเหมือนแก้มลิง แล้วจึงระบายน้ำลงทะเล เมื่อปริมาณน้ำทะเลลดลง 
ลักษณะของงานเป็นการระบายน้ำออกจากพี้นที่ตอนบนให้ไหลไปตามคลองในแนวเหนือใต้ ลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเลเมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำลงกว่าระดับน้ำในคลองก็นำการระบายน้ำจากคลองดังกล่าวออกทางประตูระบายน้ำ

พระราชดำรัสเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

    พระราชดำรัสเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ต้นทศวรรษที่ ๒ แห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลได้กำหนดแนวทางพัฒนาประเทศด้วยการประกาศใช้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อเนื่องกันหลายฉบับ เริ่มตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๐๔ เป็นต้นมา ถึงแม้ว่าการใช้แผนพัฒนาฯ ในช่วงแรกๆ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเติบโตอย่างรวดเร็วก็ตาม ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในภาวะพึ่งพิงเทคโนโลยี เงินทุน และพลังงานจากต่างประเทศ ก่อให้เกิดภาวะความเสี่ยงสูงต่อการผันผวนจากปัจจัยภายนอกซึ่งมีผลกระทบถึงประชาชนระดับล่างอันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อฐานรากทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดความไม่มั่นคงจึงตามมาด้วยปัญหาสังคมนานัปการที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงเกือบ ๕ ทศวรรษที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับความมั่งคั่งทางวัตถุและวัดความสำเร็จจากตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร ผลจากแผนพัฒนาฯ เป็นที่ประจักษ์กันดี ในระยะเวลาต่อมาว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ขาดการประสานกันอย่างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงภัยที่แฝงอยู่ในการพัฒนาดังกล่าว ทรงชี้ให้เห็นว่าควรเริ่มต้นที่การพัฒนา “คน” ให้มีความพอมีพอกินพอใช้ก่อนเนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาทุกสิ่ง โดยเฉพาะ ผลประโยชน์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกาย พระราชหฤทัย ตลอดจนพระปรีชาสามารถพัฒนาคนไทยด้วยการสร้างความพร้อมทั้งร่างกาย ความคิด และจิตใจ และเมื่อมีพื้นฐานมั่นคงแล้ว จึงค่อยตามมาด้วยการสร้างความเจริญและฐานทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น

นับตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๑๗ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือแนวทางการดำเนินชีวิตและวิถีปฏิบัติให้แก่ประชาชน นั่นคือ การเดินทาง สายกลางที่มีความพอเหมาะพอดี รู้จักประมาณตนมีเหตุผล พึ่งตนเอง และไม่ประมาท ตลอดจนการใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ในการวางแผนตัดสินใจและลงมือดำเนินการใดๆ อันเป็นแนววิธีการ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชนและระดับประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความยากจน ทั้งนี้ ทรงทำการทดลองปฏิบัติในพื้นที่เขตชนบทด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ มากมายและขยายผลมาอย่างต่อเนื่อง และได้กลายเป็นฐานรองรับเป็นอย่างดีเมื่อประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตหลายด้านในเวลาต่อมา

“…ทั้งนี้ คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราพออยู่พอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบและทำงานตั้งจิตอธิษฐานปณิธาน จุดมุ่งหมายในแง่นี้ในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่พออยู่พอกิน ไม่ใช่รุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่าการพออยู่พอกินมีความสงบนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้ารักษาความพออยู่พอกินได้ เราจะยอดยิ่งยวด …”


ชุมชนพอเพียง

ชุมชยนพอเพียง

ชุมชนบ้านดอกบัว (บ้านบัว) หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ชุมชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประเภท ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับ มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย กองทัพไทย และสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ตัวอย่างความสำเร็จของบุคคล ชุมชน และองค์กรภาครัฐและธุรกิจ ที่ได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ในการดำเนินชีวิต การพัฒนาชุมชน และการบริหารจัดการองค์กรจนประสบความสำเร็จและเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม

นายบาล บุญก้ำ ผู้ใหญ่บ้านดอกบัว เปิดเผยว่า นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ประชาชนได้น้อมนำพระราชดำริมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตมากขึ้น สำหรับชุมชนบ้านดอกบัวก็ได้มีการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้เช่นกัน โดยมีกิจกรรมที่สอดคล้องกับ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ ชุมชนมีความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนมีภูมิความรู้คู่คุณธรรมที่ผ่านมาชุมชนได้รับการคัดเลือกจากหน่วยงานราชการมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ หมู่บ้านชนะเลิศตามโครงการเชิดชูเกียรติผู้นำเครือข่ายพัฒนาชุมชนดีเด่น หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” รางวัลชนะเลิศหมู่บ้านพึ่งตนเอง ระดับจังหวัด รางวัลรองชนะเลิศ ประเภทกลุ่มอาชีพดีเด่นตามโครงการเชิดชูเกียรติของกลุ่มจักสานเข่ง ผู้นำเครือข่ายพัฒนาชุมชนดีเด่น เป็นต้น

ราษฎรในชุมชนบ้านบัวมีอาชีพหลัก คือ ทำนา นอกฤดูทำนา นำไม้ไผ่ที่มีเป็นจำนวนมากในชุมชนมาจักสาน เป็นภาชนะเพื่อใช้ประโยชน์ อาทิ สุ่มไก่ เข่ง และนำออกจำหน่ายในลักษณะการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มจักสานเข่ง ซึ่งช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านบัวเป็นอย่างดี เพราะมีตลาดรองรับที่แน่นอน ปัจจุบันส่งออกจำหน่ายไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ชาวชุมชนยังมีการเลี้ยงโคพร้อมปลูกหญ้าแพงโกล่าสำหรับเลี้ยงโคภายในชุมชน ที่เหลือก็ออกจำหน่าย ทำให้มีรายได้เข้าชุมชนอีกทางหนึ่ง

“มีศูนย์เรียนรู้ชุมชน เป็นแหล่งศึกษาดูงานของทุกคนและบุคคลทั่วไป ได้แก่ การทำจุลินทรีย์จากหน่อกล้วย การผลิตและใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและช่วยในการรักษาคุณภาพดิน ทำให้ลดรายจ่ายจากการซื้อปุ๋ยเคมีได้ปีละไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อราย นอกจากนี้ราษฎรในชุมชนยังมีการประยุกต์ใช้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่พื้นบ้าน และนำมูลโคมาทำแก๊สเพื่อใช้หุงต้มภายในครัวเรือน” นายบาล กล่าว

นอกจากนี้ทุกครอบครัวภายในชุมชนจะมีการปลูกพืชผักสวนครัว แบบปลอดสารพิษ เลี้ยงไก่พื้นเมือง เลี้ยงปลาไว้กิน เหลือจากการบริโภคก็แบ่งปันเพื่อนบ้านและจำหน่ายบ้าง ชุมชนมีครูภูมิปัญญาชาวบ้านหลายด้านที่ถ่ายทอดแนวคิด ความรู้ แนวทางการทำงาน ประสบการณ์ และกระบวนการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ออกสู่ชุมชน เช่น มีศูนย์การเพาะเลี้ยงด้วงกว่าง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวล้านนา และศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ชุมชนจะมีการปลูกไผ่ทดแทนไม้ไผ่ที่นำมาจักสานเข่ง และสุ่มอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้คนในชุมชนยังมีการดูแลผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยการนำเงินปันผลจากกลุ่มต่าง ๆ ให้กับคนด้อยโอกาสและผู้ประสบปัญหาในการดำรงชีวิต โดยการจัดสวัสดิการจากกองทุนต่าง ๆ ให้โดยการนำเงินปันผลจากกลุ่มต่าง ๆ มาเป็นสวัสดิการ

“วันนี้ชาวบ้านดอกบัวทุกหลังคาเรือนมีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการเผยแพร่ผลงานการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้แก่หน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจและเข้ามาศึกษาเรียนรู้ โดยการมาศึกษาดูงานเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนตามจุดเรียนรู้ต่าง ๆ” นายบาล ผู้นำหมู่บ้าน กล่าว

ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง

ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง 
                “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๒๕ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ศรษฐกิจแบบพอเพียง 
                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าพระราชหฤทัยในความเป็นไปของเมืองไทยและคนไทยอย่างลึกซึ้งและกว้างไกล ได้ทรงวางรากฐานในการพัฒนาชนบท และช่วยเหลือประชาชนให้สามารถพึ่งตนเองได้มีความ ” พออยู่พอกิน” และมีความอิสระที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องติดยึดอยู่กับเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัฒน์ ทรงวิเคราะห์ว่าหากประชาชนพึ่งตนเองได้แล้วก็จะมีส่วนช่วยเหลือเสริมสร้างประเทศชาติโดยส่วนรวมได้ในที่สุด พระราชดำรัสที่สะท้อนถึงพระวิสัยทัศน์ในการสร้างความเข้มแข็งในตนเองของประชาชนและสามารถทำมาหากินให้พออยู่พอกินได้ ดังนี้ 
“….ในการสร้างถนน สร้างชลประทานให้ประชาชนใช้นั้น จะต้องช่วยประชาชนในทางบุคคลหรือพัฒนาให้บุคคลมีความรู้และอนามัยแข็งแรง ด้วยการให้การศึกษาและการรักษาอนามัย เพื่อให้ประชาชนในท้องที่สามารถทำการเกษตรได้ และค้าขายได้…”

จุดเริ่มต้นแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

                ผลจากการใช้แนวทางการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมไทยอย่างมากในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งกระบวนการของความเปลี่ยนแปลงมีความสลับซับซ้อนจนยากที่จะอธิบายในเชิงสาเหตุและผลลัพธ์ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดต่างเป็นปัจจัยเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน

                สำหรับผลของการพัฒนาในด้านบวกนั้น ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเจริญทางวัตถุ และสาธารณูปโภคต่างๆ ระบบสื่อสารที่ทันสมัย หรือการขยายปริมาณและกระจายการศึกษาอย่างทั่วถึงมากขึ้น แต่ผลด้านบวกเหล่านี้ส่วนใหญ่กระจายไปถึงคนในชนบท หรือผู้ด้อยโอกาสในสังคมน้อย

                แต่ว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้เกิดผลลบติดตามมาด้วย เช่น การขยายตัวของรัฐเข้าไปในชนบท ได้ส่งผลให้ชนบทเกิดความอ่อนแอในหลายด้าน ทั้งการต้องพึ่งพิงตลาดและพ่อค้าคนกลางในการสั่งสินค้าทุน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ และการรวมกลุ่มกันตามประเพณีเพื่อการจัดการทรัพยากรที่เคยมีอยู่แต่เดิมแตกสลายลง ภูมิความรู้ที่เคยใช้แก้ปัญหาและสั่งสมปรับเปลี่ยนกันมาถูกลืมเลือนและเริ่มสูญหายไป

                สิ่งสำคัญ ก็คือ ความพอเพียงในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่ทำให้คนไทยสามารถพึ่งตนเอง และดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีศักดิ์ศรีภายใต้อำนาจและความมีอิสระในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ความสามารถในการควบคุมและจัดการเพื่อให้ตนเองได้รับการสนองตอบต่อความต้องการต่างๆ รวมทั้งความสามารถในการจัดการปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นศักยภาพพื้นฐานที่คนไทยและสังคมไทยเคยมีอยู่แต่เดิม ต้องถูกกระทบกระเทือน ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจจากปัญหาฟองสบู่และปัญหาความอ่อนแอของชนบท รวมทั้งปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนแต่เป็นข้อพิสูจน์และยืนยันปรากฎการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี

 

ยินดีต้อนรับเข้าสุ่เว็บไซต์ปิงคุง

เศรษฐกิจพอเพียง


                “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทาง การดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำ แนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลง

                 คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะพร้อม ๆ กัน ดังนี้

1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกิดไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ

3. การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล